เที่ยวญี่ปุ่นไม่พลาด! คู่มือมารยาทและวัฒนธรรมพื้นฐานสำหรับชาวต่างชาติ

แค่คิดว่าจะได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ตื่นเต้นขึ้นมาเลยใช่ไหมคะ ทั้งวิวสวยๆ อาหารอร่อยๆ ช้อปปิ้งก็สนุก แค่นึกภาพก็ยิ้มแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน บางคนอาจจะแอบกังวลนิดๆ ว่าอะไรทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะวัฒนธรรมที่ต่างกัน
จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่อาจจะต่างจากบ้านเราไปบ้าง แต่ถ้าเรารู้จักจุดสำคัญๆ ไว้สักหน่อย รับรองว่าจะเที่ยวได้อย่างสบายใจมากขึ้น และยังสามารถสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น ทำให้ทริปของเราสนุกและลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก
ครั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เคยใช้ชีวิตในญี่ปุ่น จะมาแนะนำมารยาทและวัฒนธรรมพื้นฐานที่ควรรู้ รวมถึงแนวคิดเบื้องหลังบางอย่างที่น่าสนใจ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อนๆ ชาวไทย ให้เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง ตามสำนวนที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
สารบัญ
-
01
-
02
-
03
-
04
-
05
-
06
-
07
-
08
-
09
การทักทายและการโค้งคำนับ
ในญี่ปุ่น การทักทายด้วยคำพูดมักจะมาพร้อมกับการโค้งคำนับ หรือบางครั้งก็ใช้แทนคำพูดเลยค่ะ เมื่อต้องการแสดงความสุภาพ แค่โค้งเล็กน้อยก็ช่วยสร้างความประทับใจที่ดีและทำให้การสื่อสารราบรื่นขึ้นได้

คำทักทายพื้นฐานที่ควรรู้
☀️ สวัสดีตอนเช้า: 「おはようございます」(Ohayou gozaimasu)
☀️ สวัสดีตอนกลางวัน: 「こんにちは」(Konnichiwa)
☀️ สวัสดีตอนเย็น: 「こんばんは」(Konbanwa)
☀️ ขอบคุณ (ทั่วไป): 「ありがとう」(Arigatou)
☀️ ขอบคุณ (สุภาพ): 「ありがとうございます」(Arigatou gozaimasu)
☀️ ขอโทษ/ขอบคุณ/ใช้เรียกพนักงาน: 「すみません」(Sumimasen) – คำนี้ใช้ได้หลายสถานการณ์มากๆ สะดวกสุดๆ!
กฎเกี่ยวกับรองเท้า
ที่บ้านคนญี่ปุ่น เรียวกัง ออนเซ็น อาคารในวัดหลายแห่ง หรือร้านอาหารบางประเภท โดยเฉพาะห้องเสื่อทาทามิ ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าเสมอ เป็นธรรมเนียมสำคัญเพื่อรักษาความสะอาดภายในอาคาร

👟 ควรถอดรองเท้าบริเวณทางเข้า แล้วหันปลายรองเท้าออกด้านนอก วางชิดขอบทางเดินให้เรียบร้อย
👟 หากมีรองเท้าสลิปเปอร์สำหรับใส่ในอาคารเตรียมไว้ให้ ก็ควรเปลี่ยนใส่
👟 ข้อควรระวังคือ ในห้องน้ำมักจะมีสลิปเปอร์สำหรับใช้ในห้องน้ำโดยเฉพาะวางไว้ ต้องเปลี่ยนก่อนเข้าห้องน้ำ และเมื่อออกมาก็อย่าลืมเปลี่ยนกลับเป็นสลิปเปอร์สำหรับเดินในอาคาร
มารยาทบนโต๊ะอาหาร
วัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่สวยงามในการแสดงความขอบคุณต่ออาหาร

🍚 ก่อนและหลังอาหาร:
>ก่อนเริ่มทาน ควรพนมมือเล็กน้อยแล้วกล่าว 「いただきます」(Itadakimasu) เพื่อขอบคุณอาหารและผู้เกี่ยวข้อง
>หลังทานเสร็จก็กล่าว 「ごちそうさま」(Gochisousama) เพื่อแสดงความขอบคุณเช่นกัน ตอนออกจากร้าน ถ้าบอกกับพนักงานด้วยก็จะดูน่ารักมากค่ะ
🍚 มารยาทการใช้ตะเกียบ (Ohashi): มีข้อห้ามบางอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง (มักเกี่ยวข้องกับพิธีศพทางพุทธศาสนา จึงถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม)
>ห้ามทำ: ปักตะเกียบไว้บนข้าว หรือส่งต่ออาหารด้วยตะเกียบสู่ตะเกียบ
>นอกจากนี้ การเลียตะเกียบ ใช้ตะเกียบชี้คนหรือสิ่งของ หรือถือตะเกียบวนไปมาเหนืออาหารเพราะเลือกไม่ถูกว่าจะคีบอะไรดีก็ควรงดเว้น
🍚 เสียงซู้ดเส้น: เวลาทานราเมง โซบะ หรืออุด้ง การซู้ดเส้นเสียงดังในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องปกติ และถือเป็นการแสดงว่าอาหารอร่อย ไม่ต้องตกใจถ้าได้ยินนะ
🍚 การเดินกิน: ยกเว้นในบางพื้นที่ท่องเที่ยวหรือตามงานเทศกาล โดยทั่วไปแล้ว การเดินไปกินไป (Aruki-tabe) ไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสม ควรทานอาหารที่หน้าร้านหรือในบริเวณที่จัดไว้ให้จะดีกว่า
🍚 ทิป: ญี่ปุ่นไม่มีวัฒนธรรมการให้ทิป ค่าบริการมักจะรวมอยู่ในราคาอาหารแล้ว
🍚 การจ่ายเงิน: ส่วนใหญ่แล้วจะนำใบเสร็จไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ ไม่เรียกพนักงานมาเก็บเงินที่โต๊ะ
มารยาทในออนเซ็นหรือโรงอาบน้ำ
ออนเซ็น (Onsen) หรือโรงอาบน้ำสาธารณะ (Sento) ของญี่ปุ่น คือสุดยอดประสบการณ์การผ่อนคลายความเมื่อล้าที่ใครไปเที่ยวญี่ปุ่นควรลองสักครั้ง แต่ก่อนหน้านั้น มารู้จักกฎกันสักนิด เพื่อให้ทุกคนใช้บริการได้อย่างมีความสุข

🧼 ล้างตัวก่อนลงแช่: ข้อนี้สำคัญที่สุด ต้องไปที่พื้นที่สำหรับอาบน้ำ ล้างตัวและสระผมให้สะอาดก่อน แล้วค่อยลงไปแช่ในบ่อน้ำร้อน
🧼 ห้ามนำผ้าขนหนูลงบ่อ: ผ้าขนหนูผืนเล็ก ห้ามนำลงไปแช่ในบ่อน้ำร้อนเด็ดขาด จะวางไว้บนศีรษะ หรือวางไว้ขอบบ่อก็ได้
🧼 ไม่ส่งเสียงดัง: ออนเซ็นเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ควรส่งเสียงดัง หรือว่ายน้ำเล่น
🧼 รอยสัก: ยังมีสถานบริการออนเซ็นหลายแห่งที่ไม่อนุญาตให้ผู้มีรอยสักเข้าใช้บริการ ควรตรวจสอบกฎล่วงหน้า หรืออาจจะต้องใช้สติ๊กเกอร์กันน้ำปิดรอยสัก
🧼 ก่อนกลับเข้าห้องแต่งตัว: หลังจากขึ้นจากบ่อแช่ ควรใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวให้พอหมาดก่อน เพื่อไม่ให้พื้นห้องแต่งตัวเปียก
มารยาทบนรถสาธารณะ
รถสาธารณะของญี่ปุ่น อย่าง รถไฟและรถบัส ตรงเวลาและสะดวกสบายมาก ควรใช้บริการอย่างมีมารยาท เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้อื่น และเพื่อให้ทุกคนเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย

🚃 ไม่ส่งเสียงดัง: ภายในรถสาธารณะ ไม่ควรคุยเสียงดัง หรือคุยโทรศัพท์ ควรตั้งค่าโทรศัพท์เป็นโหมดเงียบ
🚃 การกินดื่ม: รถไฟทางไกล เช่น ชินคันเซ็น สามารถทานอาหารได้ แต่รถไฟในเมืองระยะสั้นๆ หรือรถเมล์ประจำทาง ควรงดเว้นการกินดื่ม
🚃 เข้าคิว: เวลาขึ้นรถให้ต่อแถว และรอให้คนลงให้หมดก่อน แล้วค่อยขึ้น
🚃 ที่นั่งพิเศษ: ควรเอื้อเฟื้อที่นั่งให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มาพร้อมเด็กเล็ก
🚃 บันไดเลื่อน: การยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น โตเกียวยืนชิดซ้าย โอซาก้ายืนชิดขวา หากไม่แน่ใจ ให้สังเกตคนรอบข้าง
🚃 บัตร IC Card: บัตร Suica หรือ PASMO ช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก ไม่ต้องซื้อตั๋วทุกครั้ง
การปฏิบัติตัวในศาลเจ้าและวัด
ศาลเจ้าและวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ควรเยี่ยมชมด้วยความเคารพ

⛩️ โค้งคำนับที่ทางเข้า: ก่อนเดินผ่านเสาโทริอิ ที่เป็นเหมือนประตูศาลเจ้า หรือซัมมง ที่เป็นเหมือนประตูวัด ควรหยุดแล้วโค้งคำนับเล็กน้อย ทางเดินกลางถือเป็นทางเดินของเทพเจ้า ควรเดินชิดริมทางเดิน
⛩️ โชสุยะ (Chozuya) – ที่ชำระล้าง: ก่อนเข้าสักการะ ควรล้างมือและปากที่นี่ (วิธีการอาจซับซ้อนเล็กน้อย แต่หลักๆ คือ ล้างมือซ้าย → ล้างมือขวา → บ้วนปาก → ล้างมือซ้ายอีกครั้ง → ล้างด้ามกระบวย)
⛩️ วิธีสักการะ (พื้นฐาน):
>ศาลเจ้า: โดยทั่วไปคือโค้ง 2 ครั้ง → ปรบมือ 2 ครั้ง → โค้ง 1 ครั้ง
>วัด: ไม่ปรบมือ ให้พนมมือไว้ที่อกแล้วอธิษฐานอย่างสงบ
⛩️ อื่นๆ: อยู่ในบริเวณด้วยความสงบ ไม่ส่งเสียงดัง บางอาคารหรือบางพื้นที่ห้ามถ่ายรูป ควรสังเกตป้ายให้ดีนะ
มารยาทในการซื้อของ

💴 การรับ-ส่งเงิน: ที่เคาน์เตอร์คิดเงินส่วนใหญ่จะมีถาดใส่เงิน ควรวางเงินลงบนถาดนั้น
💴 ปฏิสัมพันธ์กับพนักงาน: หากต้องการความช่วยเหลือ ให้เรียกพนักงานอย่างสุภาพว่า 「すみません」(Sumimasen) เมื่อรับสินค้าหรือออกจากร้าน ควรกล่าว 「ありがとうございます」(Arigatou gozaimasu)
💴 การห่อของขวัญ: ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการห่อของขวัญมาก หากซื้อของฝาก สามารถขอให้เขาห่อให้สวยงามได้ที่ห้างสรรพสินค้า
💴 การต่อราคา: โดยทั่วไปแล้วไม่มีวัฒนธรรมการต่อรองราคาในร้านค้าทั่วไป
การปฏิบัติตัวในที่สาธารณะ

🚮 ขยะ: ญี่ปุ่นมีถังขยะสาธารณะค่อนข้างน้อย ควรนำขยะกลับไปทิ้ง หรือหาถังขยะที่ระบุประเภทชัดเจน แล้วทิ้งให้ถูกประเภท ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราดเด็ดขาด
🚮 การสูบบุหรี่: ต้องสูบในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น การเดินสูบบุหรี่ผิดกฎหมายในหลายพื้นที่
🚮 ตรงต่อเวลา: สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลามาก
🚮 ความเงียบ: ในพื้นที่สาธารณะ ควรระมัดระวังเรื่องระดับเสียง ไม่รบกวนผู้อื่น เสียงชัตเตอร์กล้องมือถือก็ควรระวังในบางสถานที่
แวะคุยสักนิด🐶🌸
มารยาทและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอาจจะดูมีรายละเอียดเยอะ แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการคำนึงถึงผู้อื่น และการให้ความสำคัญกับความสามัคคี ตอนไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องจำทุกอย่างให้ได้เป๊ะๆ แต่การรู้ข้อมูลเหล่านี้ไว้บ้าง จะช่วยให้การเดินทางในญี่ปุ่นราบรื่นขึ้น ลดความสับสนหรือความกังวลเล็กๆ น้อยๆ และยังเป็นโอกาสให้เกิดการสื่อสารที่อบอุ่นกับคนท้องถิ่นได้ง่ายขึ้นอีกด้วยค่ะ ขอให้สนุกกับการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆ จากการเดินทางในญี่ปุ่นกลับไปเยอะๆ นะคะ
บทความแนะนำ
-
- Others
- ฤดูร้อน (เทศกาลดอกไม้ไฟ / เที่ยวทะเล / งานเทศกาลต่างๆ)
รู้หรือยัง 10 อย่างที่ขาดไม่ได้ เมื่อเที่ยวญี่ปุ่นหน้าร้อน
21.05.2025
-
- Fukuoka
- Others
ตะลุยเกาะแมวและเกาะกระต่ายในญี่ปุ่น
20.05.2025
-
- Tokyo
- Hokkaido
- Fukuoka
- Others
- ฤดูหนาว (หิมะ / ออนเซ็น / เทศกาลประดับไฟ)
ญี่ปุ่นหน้าหนาว กับ 8 เทศกาลประจำฤดู
19.05.2025
-
- Tokyo
- Osaka
- Others
- ฤดูร้อน (เทศกาลดอกไม้ไฟ / เที่ยวทะเล / งานเทศกาลต่างๆ)
7 ที่เที่ยวงานเทศกาล ชมดอกไม้ไฟที่ญี่ปุ่น
18.05.2025
-
- Hokkaido
- Gifu
- Others
- ฤดูหนาว (หิมะ / ออนเซ็น / เทศกาลประดับไฟ)
- ออนเซ็น / เรียวกัง
7 สถานที่แช่ออนเซ็นท่ามกลางปุยหิมะ
16.05.2025
-
- Tokyo
- Osaka
- Fukuoka
- Nagoya
- Others
25th Thai Festival in Japan: สัมผัสวัฒนธรรมและอาหารไทยที่งานไทยเฟส
15.05.2025